กรมส่งเสริมการเกษตรชวนเกษตรกร ปรับตัวเข้าสู่เกษตรวิถีใหม่ ใช้ “ตลาดนำการผลิต”
ที่มา กรมส่งเสริมการเกษตร 22 มีนาคม 2564 นางกุลฤดี พัฒนะอิ่ม รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ภาคการเกษตรต้องปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง ในปี 2564 กรมส่งเสริมการเกษตร พร้อมที่จะก้าวสู่เกษตรวิถีใหม่ โดยยกระดับผลผลิตทางการเกษตร ภายใต้นโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกันสร้าง Single Big Data โดยใช้ข้อมูลจากฐานเดียวกัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้วยคุณภาพ มาตรฐานความปลอดภัยและการตรวจสอบย้อนกลับ ภายใต้ยุทธศาสตร์ตลาดนําการผลิต ตั้งเป้าให้ไทยเป็น “ศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของโลก”

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมกันจัดตั้ง คณะอนุกรรมการเพื่อขับเคลื่อน “ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต” รวม 4 ด้าน ได้แก่ 1. ใช้ Single Big Data เป็นฐานข้อมูลเดียวกันในการบริหารจัดการอุปทานสินค้าเกษตรครบวงจร 2. สร้างแพลตฟอร์มกลางเพื่อเป็นช่องทางการซื้อขาย การแลกเปลี่ยนสินค้า การเจรจาธุรกิจ และการประชาสัมพันธ์สินค้าเผยแพร่สู่ตลาดในประเทศและต่างประเทศ 3. การสร้างระบบตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในด้านคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัยของสินค้าไทย 4. การพัฒนาคนและผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาด เพื่อเพิ่มมูลค่าการจำหน่ายสินค้า ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ดำเนินการและวางแนวทางการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ ตลาดนำการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

สำหรับ ต้นน้ำ เน้นยกระดับเกษตรกร เป็น SF และ YSF รวมกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ ลดต้นทุน สร้างอำนาจการต่อรอง และยกระดับมาตรฐานการผลิต รวมทั้งใช้ ศพก. เป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดความรู้ มี AIC ที่ช่วยเทคโนโลยีในการผลิต ใช้ฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกร ทั้งข้อมูลรายบุคคลและข้อมูลภาพรวม ในรูปแบบแผนที่ทางการเกษตรที่เชื่อถือได้ มีระบบจัดเก็บและสามารถดึงข้อมูลมาใช้และตรวจสอบได้  และจัดทำระบบ GAP ออนไลน์ ร่วมกับ กรมวิชาการเกษตร เพื่อง่ายต่อการเข้าถึงและเกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้

กลางน้ำ ใช้กลไกการบริหารจัดการสินค้าเกษตร มีข้อมูลการเกษตร Single Big Data ที่ทุกภาคส่วน สามารถใช้เป็นฐานข้อมูลเดียวกันในการบริหารจัดการอุปทานสินค้าเกษตรครบวงจร สำหรับพืชเศรษฐกิจ มีบอร์ดที่ร่วมกันวิเคราะห์ปัญหา สำหรับพืชหลักหรือพืชท้องถิ่น มีการกำชับเจ้าหน้าที่ในการลงพื้นที่ติดตามผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะ Fruit board สามารถจัดเก็บและใช้ข้อมูล เพื่อวางแผนการผลิตสอดคล้องกับตลาด มีการจัดชั้นตลาดต่างประเทศ ในประเทศ รวมไปถึงการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ

ปลายน้ำ ส่งเสริมการเชื่อมโยงตลาดทุกระดับ ในพื้นที่ 77 จังหวัด เพื่อจำหน่ายผลผลิตและสินค้าเกษตรในจังหวัด ขณะเดียวกันกรมส่งเสริมการเกษตรได้ลงนามบันทึกข้อตกลง MOU ร่วมกันกับภาคเอกชนหลายหน่วยงาน ทั้งห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ Modern trade เช่น Big C, Tesco Lotus ตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ เช่น ตลาดไท เทพนิมิตร แมคโคร และผลักดันเกษตรกรให้เข้าสู่การตลาดรูปแบบออนไลน์มากขึ้น โดยการเปิดเว็บไซต์ ตลาดเกษตรกรออนไลน์ เป็นเว็บไซต์กลางในการรวบรวมสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภค เข้าถึงสินค้าเกษตรได้ง่ายขึ้น

ปัจจุบันเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลของไม้ผลคุณภาพหลายชนิดกำลังจะทยอยออกสู่ตลาดในหลายพื้นที่ เช่น มะม่วง มีทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันตก ทุเรียน มังคุด เงาะในภาคตะวันออก ลิ้นจี่และลำไยในภาคเหนือ ผลไม้บางชนิดยังไม่สามารถส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศได้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 กรมส่งเสริมการเกษตรได้วางแนวทางการบริหารจัดการผลผลิตและตลาดสินค้าเกษตรในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 แบบเชิงรุก เพื่อป้องกันปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำตั้งแต่ระดับพื้นที่จนถึงระดับประเทศ

กรมส่งเสริมการเกษตรมอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัดทุกจังหวัด ดำเนินการและรายงานผลการดำเนินงานให้กรมส่งเสริมการเกษตรทราบ เพื่อประชาสัมพันธ์เชิงรุก พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ หากพบปัญหาในพื้นที่ขอให้รายงานให้กรมฯ ทราบ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป โดยระดับกรม/เขต หาแนวทางแก้ไขปัญหาเชิงบูรณาการ กรณีที่ระดับพื้นที่ไม่สามารถดำเนินการได้ โดยจัดหาช่องทางจำหน่ายและกระจายสินค้าด้านการเกษตรต่าง ๆ ให้กับเกษตรกรผ่านช่องทางตลาด Modern trade เช่น Tesco Lotus, Big C และ Makro ตลาดกลางค้าส่งขนาดใหญ่ เช่น ตลาดไท หรือตลาดเฉพาะกิจ จำหน่ายสินค้าในรูปแบบค้าส่งร่วมกับบริษัทไปรษณีย์ไทยจำกัด การส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ และช่องทางตลาดอื่นๆ พร้อมทั้งประสานความร่วมมือกับบริษัทขนส่ง เพื่อสนับสนุนเกษตรกรที่จำหน่ายสินค้าด้านการเกษตรออนไลน์ โดยบริษัทขนส่งจะสนับสนุนราคาค่าขนส่งที่ถูกลงกว่าปกติ

ส่วนการแก้ไขปัญหาระดับประเทศ กรณีพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญนั้น มีการบริหารจัดการทุกมิติอยู่แล้ว โดยคณะกรรมการบริหารระดับประเทศ (บอร์ด) เช่น ผลไม้ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย เป็นต้น กรมส่งเสริมการเกษตรจะได้ดำเนินการนำเสนอบอร์ดที่กรมฯ ทำหน้าที่เป็นเลขานุการ และประสานงานกับหน่วยงานที่ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการของบอร์ดอื่น นำเสนอบอร์ดของชุดนั้นเพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาโดยเร็ว

อยากเชิญชวนพี่น้องเกษตรกร ปรับตัวเข้าสู่นโยบาย “ตลาดนำการผลิต ” ใส่ใจเรียนรู้ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของตลาด ว่า พืชที่ปลูกอยู่นั้น ตลาดต้องการสินค้าประเภทนี้ไหม หากไม่รู้จะปลูกอะไร เดินมาขอคำแนะนำจากสำนักงานเกษตรอำเภอได้ทุกแห่ง กรมส่งเสริมการเกษตรพร้อมให้บริการพี่น้องเกษตรกรทุกท่านด้วยความยินดีค่ะ” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าวในที่สุด