แผนรับมือภัยพิบัติด้านเกษตรหน้าฝน
ที่มา หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันจันทร์ ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2564
นายสำราญ สาราบรรณ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านเกษตร ครั้งที่ 1/2564 ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า จากการคาดการณ์สถานการณ์ในช่วงฤดูฝน ปี 2564 คาดว่าฝนจะเริ่มตกเร็วขึ้นกว่าปกติ ช่วงกลางเดือนเมษายน – พฤษภาคม ก่อนเว้นช่วงเดือนมิถุนายน ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมป้องกันและลดผลกระทบจากสถานการณ์ภัยพิบัติช่วงฤดูฝนจะเกิดขึ้นต่อภาคการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ จึงเตรียมการจัดทำแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้านเกษตร ช่วงฤดูฝน ปี 2564 โดยขอความร่วมมือให้กรมชลประทานทำแผนจัดสรรน้ำช่วงฤดูฝน และร่วมกับกรมพัฒนาที่ดินทำแผนคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัย

  นอกจากนี้ ยังมอบหมายกรมการข้าว กรมชลประทาน และกรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกันวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูฝน ปีการผลิต 2564 ตลอดจนให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกันร่างแผนป้องกันและเผชิญเหตุอุทกภัยด้านการเกษตร ในเรื่องของการป้องกันและลดผลกระทบ การเตรียมความพร้อมเผชิญเหตุ ตลอดจนการฟื้นฟูและดูแลหลังเกิดภัย โดยการเตรียมการจัดทำแผนดังกล่าว สำหรับใช้เป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานราชการ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านเกษตร และเตรียมการให้ความช่วยเหลือ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2564 ให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ  สำหรับแผนการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ปี 2563/64 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 สิ้นสุดวันที่ 30 เมษายน 2564 สถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำของประเทศในปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 15 มี.ค. 2564) มีน้ำใช้การ 16,065 ล้านลูกบาศก์เมตร แบ่งเป็น ภาคเหนือมีปริมาณน้ำใช้การ 3,459 ล้านลูกบาศก์เมตร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีปริมาณน้ำใช้การ 3,700 ล้านลูกบาศก์เมตร ภาคตะวันตกมีปริมาณน้ำใช้การ 3,119 ล้านลูกบาศก์เมตร ภาคกลางมีปริมาณน้ำใช้การ 625 ล้านลูกบาศก์เมตร ภาคตะวันออกมีปริมาณน้ำใช้การ 1,037 ล้านลูกบาศก์เมตร และภาคใต้มีปริมาณน้ำใช้การ 4,125 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยในภาพรวมถือว่าการบริหารจัดการเป็นไปตามแผนบริหารจัดการน้ำ